ต้องขอออกตัวก่อนว่าจ๋าเป็นเพียงผู้สอนคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ได้สัมผัสกับเด็กๆบ้าง ไม่ได้มากมายอะไร และไม่ได้เป็สายตรงที่จบศิลปะเด็กหรือเอกปฐมวัย แต่เท่าที่สัมผัสและรับรู้ได้นั้น สมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดี
มันคงจะแย่มากถ้าหากเรานั่งทำงานได้ติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่ลุกไปไหนเลย. ที่ต้องยกตัวอย่างให้เว่อร์เพื่อจะได้มองเห็นภาพชัดขึ้นว่าการมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆก็ไม่ใช่ผลดีเสมอไป
เพื่อปกป้องไม่ให้ร่างกายบาดเจ็บจากการอยู่ในท่าเดิมนานๆธรรมชาติจึงต้องการให้เราเคลื่อนไหวให้มากโดยทำให้เรารู้สึกหมดความสนใจกับสิ่งที่ทำแล้วหันไปทำอย่างอื่นสลับกันแทน เมื่อเห็นดังนี้แล้วการมีสมาธิที่จำกัดจึงเป็นเรื่องธรรมดา.
จ๋าจึงเกิดคำถามหนึ่งขึ้นในใจว่า “สมาธิสั้นมีอยู่จริงหรือไม่?” และเมื่อได้ลองค้นหาคำนี้ดูก็ได้พบกับบทความของคุณหนูดี และเห็นด้วยกับเนื้อความที่ว่า แท้จริงแล้วเด็กสมาธิสั้นเป็นเด็กที่ฉลาดมาก และจะมีสมาธิสูงกับเรื่องที่สนใจเท่านั้น หากเป็นเรื่องที่ไม่สนใจก็จะไม่สามารถจดจ่ออยู่ได้เลย
จริงอยู่ที่อาการสมาธิสั้นถ้าหากมีมากไปจะเป็นผลเสียหายต่อตัวเด็ก การไม่สนใจสิ่งรอบข้างอาจทำให้คุยกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง หรือเรียนหนังสือตามไม่ทัน การควบคุมอารมณ์ไม่ได้อาจทำให้เข้ากับผู้อื่นได้ยากก็จะมีผลกระทบตามมา สุดท้ายการไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งก็จะทำให้สร้างสรรค์งานไม่สำเร็จ และตอกย้ำความรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าหากมันมีมากจนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงแล้วล่ะก็ ก็อาจถูกเรียกว่าเป็นโรคสมาธิสั้นได้
แต่ถึงอย่างนั้นมันจะมีประโยชน์อะไรหากเรามองว่ามันเป็นความบกพร่องที่ทำให้เราแปลกแยกจากคนอื่นๆ เรามามองในแง่ดีว่าเรากำลังรับมือกับเรื่องยากๆ แต่มันก็เป็นปัญหาปกติที่ชีวิตต้องเผชิญบ้างดีกว่า
ตามความเห็นของจ๋า เด็กที่มีสมาธิสั้นคือเด็กที่ฉลาดมากเกินกว่าปกติด้วยซ้ำไป. เพราะอะไรถึงทำให้เค้าไม่สนใจสิ่งต่างๆที่เราพยายามยัดเยียดให้เค้าทำ คำตอบก็คือเพราะเด็กคนนั้นรู้ว่า “เรื่องนั้นมันไม่มีประโยชน์ต่อตัวเขา” จากทฤษฏีจิตวิทยาปัจเจกบุคคลของ อัลเฟรด แอดเลอร์ ได้อธิบายว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กระทำสิ่งต่างๆโดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญ แสดงให้เห็นว่าทุกๆการกระทำล้วนต้องมีเป้าหมาย. ลองคิดดูว่าถ้าหากเราต้องทำกิจกรรมอะไรบางอย่างไปนานๆโดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไปทำไม กิจกรรมนี้มันสำคัญอย่างไร จ๋าเชื่อว่าไม่นาน เราก็จะเบื่อมันไปเอง ไม่ต้องให้เด็กมาทำหรอก เอาเป็นผู้ใหญ่โตแล้วนี่แหละ หรือจะแก่แล้วก็ได้ (55+)
เวลากำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน เรามักจะมองจากมุมมองของเราไปสู่ตัวเด็กแล้วคิดแทนเด็ก ว่าอันนี้น่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเขานะ อันนี้ไม่มีประโยชน์… ทั้งที่ความจริงเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยความคิดของเราเลยว่าอะไรที่มีประโยชน์ต่อตัวเขาจริงๆ. เรามองแทนเขา เราคิดในแบบของเรา แต่เราคิดแทนเขา เราไม่เคยตั้งใจดูจริงๆว่าแท้จริงแล้วเขาชอบเขาสนใจอะไร นี่คือประเด็นของศิลปะบำบัดสมาธิสั้นในทัศนของจ๋านะ.
เด็กสมาธิสั้นไม่ใช่เด็กมีปัญหาที่ต้องหาทางรักษาโดยการให้ยาหรือการส่งไปบำบัด มันไม่ใช่ว่าทำแค่นั้นแล้วจะหายได้ แต่คนที่มีอาการสมาธิสั้นเป็นคนฉลาด เขาสามารถคิดเองได้ดีและต้องการการช่วยเหลือสนับสนุน ต้องการการสนใจ เอาใจใส่ การแนะนำที่ตรงตามความสนใจของเขาก็เท่านั้นเอง. ถ้าเป็นเด็กเล็ก ก็ควรจะให้ได้ลองทำกิจกรรมหลากหลายแล้วก็สังเกตพฤติกรรมว่าเขาเลือกเขาชอบทางไหนก็ส่งเสริมไปทางนั้น. มันอาจฟังดูง่าย ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้ง่ายซะทีเดียว. เพราะสิ่งที่เด็กๆต้องการไม่ใช่แค่กิจกรรมดีๆ หรือคอร์สเรียนราคาแพง แต่เป็นความรักความอบอุ่นและดูแลเอาใจใส่จากคนในครอบครัว คนรอบข้างต่างหาก. ดังนั้นหากต้องการดูแลเด็กที่อยู่ไม่นิ่งเหล่านี้ต้องใช้พลังมาก เพราะดูแลเอาใจใส่แบบเฉพาะเจาะจงเป็นคนๆไป และจ๋าคิดว่าจะเป็นใครไปไม่ได้เลยที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดถ้าไม่เริ่มจากตัวผู้ปกครองเอง
มาถึงตรงนี้ถ้าหากจ๋าอยากโฆษณาขายคอร์สเรียนศิลปะบำบัดที่อาจจะราคาสูงสักหน่อยแต่สอนตัวต่อตัวก็คงจะทำได้ (55+) แต่จ๋าไม่ทำหรอก เพราะไม่ค่อยถนัดดูแลเด็กๆด้วยหนึ่ง. สองก็คือ ไม่ใช่ว่าจ่ายเงินซื้อคอร์สเรียนศิลปะบำบัดแล้วจะหาย. แต่เด็กๆจะดีขึ้นแน่ มีความสุขขึ้นแน่ๆถ้าหากเค้าได้ทำในสิ่งที่เค้ารักแล้วประสบความสำเร็จ. คุณเองก็เหมือนกันใช่ไหมล่ะ ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าทำงานอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จหรอก ดังนั้นในการกำหนดกิจกรรมสำหรับเด็กๆ (หรือจะผู้ใหญ่ก็ได้นะ สำหรับทุกคนเลย) ควรคำนึงดังนี้
1. เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ให้ลองคิดถึงตัวเอง ถ้ามีคนมาบังคับให้เราวาด วาดอะไรก็ไม่รู้ที่เราไม่ได้สนใจเลย เราจะตั้งใจวาดได้สักแค่ไหน. การค้นหาความสนใจจริงๆของตนเองเป็นเรื่องลึกลับอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ ถ้าไม่เชื่อก็ลองค้นหาดูด้วยตนเอง. ดังนั้นถ้าเรื่องที่จะทำมันไม่น่าสนใจ มันก็คงไม่ใช่กิจกรรมที่เหมาะกับเราแล้วล่ะ กับเด็กๆก็เช่นกัน. ถ้าไม่น่าสนใจสำหรับพวกเขาก็อย่าไปบังคับให้เขาทำ.
2.ง่ายเกินกว่าที่จะล้มเหลว
จ๋าชอบคำนี้ที่สุดเลยนะตอนนี้ เพราะได้สัมผัสอะไรหลายๆอย่างด้วยตนเองแล้วมองว่าวิธีนี้ได้ผลเอามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกิจกรรมการสอนเด็กๆด้วย. ไม่มีใครชอบความล้มเหลว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเรื่องที่ทำมันยากเกินไป แม้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจแค่ไหนก็คงทำใจให้ชอบลำบาก ดังนั้นถ้าจะชวนเด็กทำกิจกรรมอะไรให้พยายามดูกำลังของเด็กให้มากๆ ว่ามันไม่ง่ายจนน่าเบื่อ และไม่ยากจนเกินจะทำได้ แค่พอตึงๆมือก็น่าสนุกดีแล้วนะ.
3.มีเป้าหมายชัดเจน
ว่าทำไปทำไม. พยายามแสดงจุดหมายปลายทางให้เห็นภาพชัดๆเลยว่าทำไปแล้วจะได้อะไรออกมา เพราะถ้าให้แค่โจทย์แล้วปล่อยให้ทำเองโดยไม่มีภาพขั้นตอนการทำงานแสดงประกอบให้ชัด หรือไม่มีผลลัพท์ให้เห็น ก็คงยากที่จะเข้าใจว่าให้ทำอะไร. ต่อให้เป็นคนเก่งยังไงก็คงต้องมีหลงทาง มีงงแน่นอนถ้าไม่อธิบายให้ดีก่อน. อย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่หลายคนอย่างเราเองบางครั้งก็ไปไม่ถูกเหมือนกัน
ประเด็นเรื่อง “ทำไมเด็กถึงติดเกมส์?” น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของแนวทางการจัดกิจกรรมให้เด็ก คุณเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมคนชอบเล่นเกมส์มากกว่าเรียนหนังสือ. เด็กหรือคนที่สมาธิสั้นหลายคนไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นานแต่บางคนก็สามารถเล่นเกมส์ได้นานมาก… จ๋าฟันธงเลยว่าเด็กหรือคนที่ติดเกมส์ไม่ได้สมาธิสั้นจริงๆหรอก. พวกเขาแค่กำลังทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อตัวเองอยู่ จริงอยู่การเล่นเกมส์อาจไม่มีประโยชน์ในสายตาคนรอบข้างแต่ในโลกของเด็กๆที่เล่นเกมส์ ชัยชนะและกิจกรรมในเกมส์ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมาย และเต็มไปด้วยคุณค่า. ทำไมเกมส์ถึงให้ความรู้สึกแบบนั้นได้. เพราะพวกเขาได้ออกแบบกิจกรรมมาอย่างระมัดระวังต่อการกระทบจิตใจของผู้เล่นโดย 1.มีเป้าหมายชัดเจน 2.ง่ายเกินกว่าที่จะล้มเหลว และ3.มันดูน่าสนใจ. แล้วเราจะพบว่าเด็กๆที่เล่นเกมส์จะค่อยๆดึงตัวเองออกจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ชีวิตล้มเหลว และเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนที่ชีวิตตัวเองโดดเด่นและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น. ถ้าหากเรารู้เท่าทันอย่างนี้แล้วในฐานะคนในครอบครัว หัวหน้าครอบครัวหรือผู้ปกครอง ก็สามารถต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้ดูดีกว่าในเกมส์ซะ เพื่อดึงเด็กๆออกมาโดยพลัน . อนึ่งเกมส์ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยนะถ้าเล่นแต่น้อย ออกกำลังกายให้มากๆ (55+)
ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองที่สนใจดูแลเด็กๆที่อยู่ไม่นิ่งที่บ้านด้วยนะคะ ขอบคุณที่ติดตามบทความในเว็บบ้านโพรงไม้มาโดยตลอดค่ะ.
ปล. ห้องเรียนศิลปะบ้านโพรงไม้ยินดีต้อนรับผู้สนใจฝึกฝนวิชาวาดรูปอย่างจริงจังเสมอ. จ๋าสามารถสอนวาดรูปได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ที่จำกัดเอาไว้ว่ารับเฉพาะเด็กโตตั้งแต่มัธยมขึ้นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กถูกบังคับให้เรียนวาดรูปแบบเด็กโตทั้งๆที่ไม่ได้สนใจ เพราะจ๋าไม่ได้สอนแบบศิลปะเด็กซึ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ. แต่ถ้าคิดว่าเด็กเล็กของคุณสนใจวาดรูปเป็นพิเศษก็สามารถเข้ามาได้เสมอค่ะ จ๋ายินดีต้อนรับ
จ๋าสามารถสอนให้คนที่สนใจวาดรูปสามารถวาดเก่งขึ้นได้
แต่ไม่สามารถทำให้คนที่ไม่ได้สนใจวาดรูปหันมาวาดได้
ฉะนั้นถ้าหากตั้งใจว่าจะฝึกวาดรูปแล้วก็ติดต่อกันมาได้เสมอค่ะ