โครงการดีๆ ติวฟรีวาดเส้น


โครงการดีๆ ติวฟรีวาดเส้น (Free Art Tutor)

เกริ่นนำ ติวฟรีวาดเส้น

Free Art Tutor หรือ ”โครงการดีๆ ติวฟรีวาดเส้น“ จ๋าเริ่มเขียนใน blogger ตั้งแต่เรียนจบมาใหม่ๆ ราวปี 2554. หลังจากนั้นจึงค่อยทำเว็บไซต์ Baanprongmai.com และปัจจุบันใน Facebook กลุ่ม ก็น่าจะสะดวกดี.

ต้องขอออกตัวก่อนว่าจ๋าไม่ใช่เด็กติวเต็มตัว. แต่ก็พอจะเป็นศิษย์มีครูอยู่บ้าง ถึงแม้จะไม่ค่อยได้พูดคุยกัน แต่นึกถึงครูทีไร ก็ยังคิดถึงและประทับใจมิรู้ลืม. จึงได้มาเขียนบทความนี้เพื่อตอบแทนพระคุณครู.  ครูเป้า ร.ร. เบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ได้ติววิชาวาดเส้นให้จ๋าฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ. ดังนั้นเนื้อหาในส่วนที่ครูติวให้ จ๋าจึงจะขอคืนให้แก่พวกเราทุกคนที่ต้องการฝึกวาดรูปด้วยตนเองค่ะ.

จ๋าเข้าไปติวช้า คือไปตอน ม.5 ได้ รู้สึกว่ามีเวลาฝึกแค่ปีกว่า ก็ต้องไปสอบแล้ว. ดังนั้นจึงเป็นความดีของครูท่าน ที่เก็งข้อสอบได้แม่นยำ และแนะนำคณะที่เรียนให้ได้เหมาะสมตามความสามารถ บนพื้นฐานความเป็นจริง และข้อจำกัดทางด้านเวลาและฝีมือของผู้เรียนอย่างจ๋าในเวลานั้น.

ดังนั้นเนื้อหาในคอร์สเรียนนี้ก็จะกระชับ ราวกับย่อการฝึกทั้งหมดของจ๋าที่เคยได้รับถ่ายทอดมาจากคุณครูในขณะนั้น ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ แต่ก็สามารถจะสอบผ่านวิชาวาดเส้นของคณะมัณฑนศิลป์ ด้วยคะแนนเกิน 80 คะแนนได้ภายในเวลา 1 ปี ครึ่ง

เราลองมาดูกันว่า ฝึกอะไรบ้าง.

จ๋า (16 ก.ค. 2567)

บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวาดเส้นสอบเข้า

บทที่ 1 นี้ เป็นการบรรยาย จะถือเป็นภาคทฤษฎี คือ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิชาวาดเส้น ที่ถ้าเรารู้ก่อนเริ่มวาดจะดี จะได้เปรียบเขาอยู่บ้าง.  อันที่จริงแล้วสมัยก่อนตอนฝึกวาดรูปจ๋าเองก็ไม่ได้มีความรู้ตรงนี้มาก่อนเลย.  แต่มาสรุปให้ฟังหลังจากเรียนจบ และสอนมาได้สักพักแล้ว เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์.  ใครอยากวาดรูปก่อน จะข้ามไปเริ่มฝึกในบทที่ 2 เลยก็ได้ แล้วค่อยมาตามอ่านตรงนี้เสริมเอา

ความสำคัญของการวาดเส้น

ความสำคัญของการวาดเส้น

ทำไมต้องฝึกวาดเส้น?

 หลายคนคงจะสงสัยว่าไอการ "วาดเส้น" เนี่ย มันสำคัญขนาดนั้นเลยหรอ? ทำไมทุกมหาวิทยาลัยที่เรียนเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ จะต้องบังคับให้สอบผ่านวิชาวาดเส้นก่อน ถึงจะเข้าไปเรียนได้

 ขอตอบตรงนี้เลยว่า "สำคัญมาก" เพราะผลงานวาดเส้นจะเป็นตัวชี้วัดทักษะที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน และการออกแบบทางด้านทัศนศิลป์ (ศิลปะที่ใช้ตามองเห็น) เกือบทุกประเภท เพราะฉะนั้น หากมหาวิทยาลัยรับนักเรียนที่ไม่มีทักษะตรงนี้มากพอเข้าไปเรียน ผู้เรียนก็อาจจะเรียนไม่ไหว สร้างสรรค์ผลงาน หรือ ออกแบบผลงานได้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร.

 ด้วยเหตุผลเท่าที่กล่าวมา ก็เพียงพอที่จะทำให้น้องๆที่สนใจอยากทำงานทางด้านศิลปะและการออกแบบต้องตั้งอกตั้งใจฝึกวาดเส้นกันแล้ว

 แต่สำหรับคนทั่วไปที่สนใจศิลปะและการออกแบบ อาจไม่ได้ต้องการเรียนต่อหรือนำไปสอบเข้าล่ะ คงสงสัยว่าเอ... แล้ววาดเส้นสำคัญกับเรายังไงล่ะ

 ขอตอบว่า "วาดเส้น" สำคัญค่ะ ด้วยเหตุผลเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเรียนต่อหรือไม่เรียนต่อ แต่ถ้าจุดมุ่งหมายคือคุณต้องการสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ตามองเห็นได้ วาดเส้นก็ยังสำคัญต่อคุณอยู่ดี เพราะวาดเส้นก็คือ "การฝึกสังเกตุ"

 ใช่ค่ะ จุดประสงค์หลักของการวาดเส้นคือการฝึกการสังเกตุ "ฝึกมอง" ให้เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากเพราะเราจะรับรู้ภาพต่างๆเข้าไปในสมอง จดจำ ทำความเข้าใจ และ"ถ่ายทอด" กลับออกมาใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ

 ในวิชาวาดเส้นนี้ เราก็จะถ่ายทอดสิ่งที่เรามองเห็นออกมาด้วย"เส้น"ของดินสอค่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญรองลงมาจากการมอง ก็คือ"การควบคุมเส้น"ให้ได้ดั่งใจ

 วิธีการฝึกที่เป็นพื้นฐานเริ่มแรก ที่ง่ายที่สุดก็คือการวาดตามจากสิ่งที่ตาเห็น ดังนั้นในการฝึกเราก็จะมองดูแบบและวาดตาม ฟังดูไม่ยากเลยค่ะ ซึ่งสำหรับบางคนก็ไม่ยากจริงๆ แต่สำหรับบางท่านก็ลำบากเหลือเกินเหมือนกัน (ฮ่าๆ) แต่ก็ฝึกได้ค่ะ ฝึกได้.

 ดังนั้นเมื่อฝึกวาดเส้นเสร็จ เราก็จะได้ "ภาพเหมือน"ออกมา จึงไม่แปลกค่ะ ที่การวาดเส้นจะถูกเข้าใจว่าเป็นการ"วาดภาพเหมือน" ซึ่งมันคือผลลัพธ์ของการวาดเส้น แต่ความจริงแล้ววาดเส้นคือ "การฝึกสังเกตุ" นะคะ ขอย้ำ. มันทำให้ทักษะของเราเพิ่มพูนขึ้น เพื่อที่จะเอาไปใช้สร้างสรรค์งานต่อไปค่ะ

กว่าจะมาเป็นงานศิลปะนามธรรม หรือกึ่งนามธรรม ล้วนต้องผ่านการฝึกฝนทักษะวาดเส้นพื้นฐานมาก่อนทั้งสิ้น

ตัวอย่างผลงานวาดเส้นสมัยเตรียมสอบ

สมัยเรียนในมหาวิทยาลัย

และสมัยเรียนจบออกมาแล้ว

เกณฑ์การให้คะแนน

เกณฑ์การให้คะแนน

 สำหรับผู้ที่ต้องการสอบเข้า หรือเรียนต่อมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะและการออกแบบ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องวาดเส้นแข่งกับคนอื่นๆนะคะ ทีนี้จะรู้ได้ยังไงว่าภาพวาดของเราสวย หรือมันดีกว่าของคนอื่นไหม เราควรจะได้คะแนนเท่าไร? ยิ่งคนฝึกวาดคนเดียวนี่เคว้งคว้างน่าดูเลย โชคดีค่ะที่ตัวเรา(ผู้เขียนเอง)มีอาจารย์ดี(ครูเป้า ร.ร.เบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี)คอยอบรมสั่งสอนให้คำแนะนำ เรามีเพื่อนกลุ่มเล็กๆที่ฝึกอยู่ด้วยกันไม่ใหญ่มาก ไม่ค่อยมีอารมณ์แข่งขันกันเท่าไร (รู้สึกชิวๆ ^0^) แต่ตัวครูเรา ท่านมีเกณฑ์การให้คะแนนที่สูงมากกกก =.=" ซึ่งตอนที่เราฝึกนั่นก็ไม่รู้หรอกค่ะว่ามันสูงแค่ไหน มารู้เอาตอนที่สอบติดไปแล้วและเรียนจบมา มีโอกาสได้มาสอนเด็กๆที่สตูดิโอนี่แหละ ถึงได้รู้ว่า เฮ้ยย ไอที่เราฝึกมานี่ มันโหดมากๆเลยนี่หว่า แล้วไอที่เราสอบติดมานี่คนแข่งกันเยอะมากเลย (ฮ่าๆ) เรานี่บ้านนอกจริงๆ ไม่รู้เลยว่าที่ไหนคนสอบเยอะคนสอบน้อย แต่อาจจะดีแล้วก็ได้ค่ะ ที่ไม่รู้อะไรเลยตอนไปสอบน่ะ =^w^= เพราะเราก็ไม่เครียดและกดดันมากเท่าที่ควรจะเป็น ... แต่คนที่รู้แล้วก็ช่วยไม่ได้นะ อิๆ

 สรุป การมีครูที่เกณฑ์การให้คะแนนสูงเป็นเรื่องดีค่ะ...

 อะเข้าเรื่อง! เกณฑ์การให้คะแนน(วัดว่างานไหนสวย)ขึ้นอยู่กับ

 ๑. องค์ประกอบของภาพ???

 ๒. โครงสร้างและสัดส่วน??

 ๓. น้ำหนักแสงเงา

 ๔. รายละเอียดและความเรียบร้อย

 ในที่สุดบทความนี้ก็คงต้องยืดยาวออกไปอีกนิด มีน้องๆแอบกระซิบมาว่า "ช่วยแปลไทยเป็นไทยทีพี่" (ฮ่ะๆ) ล้อเล่นนะ ไม่มีใครถามหรอกนั่งพิมพ์อยู่คนเดียว "องค์ประกอบภาพคืออะไร?" ตอบแบบพื้นๆก่อนนะคะ คือการจัดวางสิ่งต่างๆในรูปภาพให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และน่าสนใจด้วย... พูดง่ายเนอะ อะดูตัวอย่างดีกว่า

ภาพประกอบที่ ๑ - ภาพเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดกระดาษ จะได้พื้นที่ว่างที่เหลือกรอบๆรูปมากเกิน ให้ความรู้สึกหลวมๆ เหงาๆ (เอ๊ะเราคิดมากไปรึเปล่า ^.^")


ภาพประกอบที่ ๒ - ภาพใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดกระดาษ จะได้พื้นที่ว่างรอบๆรูปน้อยเกินไป ให้ความรู้สึกคับ แน่น น่าอึดอัด

ภาพประกอบที่ ๓ - ภาพขนาดพอดี มีพื้นที่ว่างรอบๆรูปที่ให้ความรู้สึกว่าเท่าๆกันกับพื้นที่ในตัวรูป

 ภาพที่ ๓ จะเป็นภาพที่จัดองค์ประกอบได้เหมาะสมสุดในที่นี้ค่ะ ในเบื้องต้นก็จัดแบบไว้กลางภาพให้ได้แบบนี้ไปก่อน ถึงแม้ว่ามันจะดูไม่น่าสนใจนักแล้วก็ให้ความรู้สึกนิ่งๆ แต่มันเป็นเบสิคง่ายๆค่ะ ก็เราวาดหุ่นนิ่งนี่เนอะ ^.^"

 ภาพประกอบที่ ๔ - ภาพที่จัดตำแหน่งไม่พอดี เอียงไปทางด้านนึง จะให้ความรู้สึกว่าภาพมันเอียง

"โครงสร้าง" คงไม่ต้องพูดเยอะ เพราะเข้าใจง่ายๆว่าเราขึ้นหุ่นให้มันดูตั้งอยู่ได้อย่างนั้นจริงๆ ไม่ล้ม ไม่บิ้ดๆเบี้ยวๆ

 ภาพประกอบที่ ๕ - เปรียบเทียบระหว่างโครงสร้างที่ล้มและบิดเบี้ยวกับโครงสร้างที่เหมาะสม

 "สัดส่วน" อาจต้องบรรยายหน่อย สัดส่วนก็คือขนาดที่สัมพันธ์กัน ค่อนข้างสำคัญเลยเพราะถ้าวาดผิดไปจากความจริงก็จะเห็นชัดเลยว่าสิ่งของมันมีรูปร่าง รูปทรงที่ผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราวาดสิ่งของที่คนเห็นจนคุ้นเคยกับมันแล้ว เช่น

 ภาพประกอบที่ ๖ - ภาพเปรียบเทียบสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนของขวดน้ำกับสัดส่วนที่สมจริง 

"น้ำหนัก" คือระดับความอ่อนแก่ของภาพ ภาพที่สวยงามควรจะมีระดับน้ำหนักครบ ตั้งแต่น้ำหนักอ่อนสุดไปจนถึงน้ำหนักเข้มสุด

 ภาพประกอบที่ ๗ - เปรียบเทียบระดับน้ำหนักที่ไม่ครบ กับระดับน้ำหนักที่ครบ

"แสงเงา" ตามความเป็นจริง จะทำให้ภาพออกมาดูสมจริงและมีมิติ เหมือนสามารถจับต้องสิ่งของนั้นได้

ภาพประกอบที่ ๘ - เปรียบเทียบแสงเงาที่ผิดจากความเป็นจริง กับแสงเงาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 สุดท้าย "รายละเอียด"คือคุณลักษณะของพื้นผิว และลวดลายที่ปรากฏบนหุ่น

 ภาพประกอบที่ ๙ - เปรียบเทียบงานที่ไม่มีรายละเอียด กับงานที่มีรายละเอียด

 และ"ความเรียบร้อย" ในที่นี้คือความเรียบร้อยของเส้นที่ใช้แรเงา

 ภาพประกอบที่ ๑๐ - เปรียบเทียบงานที่ไม่เรียบร้อย กับงานที่เรียบร้อย

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางให้ผู้ฝึกวาดเส้นด้วยตนเองได้ตรวจประเมิณงานของตนเองได้ตามความเหมาะสมค่ะ

งานเสร็จ งานไม่เสร็จ ?

งานเสร็จ? งานไม่เสร็จ?

 มันสำคัญมากที่เราจะต้องรู้ตัวว่างานที่เรากำลังวาดอยู่นี้ ต้องทำแค่ไหนจึงจะเสร็จ เราควรต้องมีภาพผลงานสำเร็จเป็นปลายทางอยู่ในหัวแล้ว ไม่เช่นนั้นเราก็จะเจอปัญหาว่าเราตั้งใจวาดเนี๊ยบมาก เรียบร้อยมาก แต่สุดท้ายทำไมได้คะแนนน้อยจัง หรือทำไมภาพมันออกมาจางๆดูเหมือนไม่ค่อยเสร็จ แล้วก็สวยสู้งานเพื่อนไม่ได้ เพราะฉะนั้นกฏข้อแรกของการทำงานคือ "มันต้องเสร็จ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสอบ เพราะกรรมการจะไม่ตรวจงานที่ไม่เสร็จ นั่นคือเค้าดึงงานเราออกจากกองตั้งแต่การตรวจรอบแรกเลย.

 มาเข้าใจวิธีการตรวจงานของกรรมการกัน ทีมกรรมการจะตรวจงานหลายรอบ โดยจะวางงานเรียงไว้บนพื้นที่กว้างๆ แล้วเดินดู รอบแรกดูจากระยะไกล

 ภาพประกอบที่ ๑ - มุมมองภาพจากระยะไกล ภาพที่เห็นจะมีขนาดเล็กและยังมีรายละเอียดไม่ชัดนัก เหมือนภาพที่เรามอง tumbnailในจอคอมฯ

 สิ่งที่กรรมการสนใจพิจารณาได้จากในระยะนี้ชัดเจนที่สุดคือ "องค์ประกอบภาพ"และ"น้ำหนัก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งความครบถ้วนของน้ำหนัก


ภาพประกอบที่ ๒ - เปรียบเทียนภาพที่เก็บไว้ และภาพที่ถูกดึงออก

 ระยะถัดมา จะเดินใกล้เข้ามาอีก ก็จะมองเห็น "โครงสร้างสัดส่วน","แสงเงา" ว่ามีความสมจริงแค่ไหน

 ภาพประกอบที่๓ - แสดงผลงานที่ถูกดึงออกเมื่อนโครงสร้างสัดส่วนไม่สมจริง

 และระยะสุดท้าย จะเดินใกล้ เป็นระยะที่สังเกตุเห็นรายละเอียดและความเรียบร้อยของงาน

 ภาพประกอบที่ ๔ - แสดงผลงานที่เหลืออยู่ในรอบสุดท้าย

 สรุป งานที่ดูเสร็จคืองานที่มี "น้ำหนัก" ครบถ้วน, ส่วนงานที่จะผ่านถึงรอบสุดท้ายคืองานที่"เสร็จ"และ"สมบูรณ์"ที่สุด.

เช็คลิสต์ วัสดุ-อุปกรณ์วาดเส้น

เช็คลิสต์อุปกรณ์วาดเส้น

นี่คือตัวอย่างกล่องดินสอและกระดานวาดเขียนที่จ๋าใช้เอาไปสอบวิชาวาดเส้นทุกสนามสอบ

รายการอุปกรณ์คร่าวๆมีดังนี้

1. ดินสอ EE ใช้สำหรับฝึกร่างภาพและแรเงา

2. กล่องดินสอบุฟองน้ำ กันกระแทกจนดินสอหักเพราะ EE หักง่าย

3. กระดาษวาดเขียน 100 ปอนด์แบบเรียบ

4. กระดานรองเขียน ขนาด A2

5. ตัวหนีบ 2 ตัว ใช้หนีบกระดาษกับกระดานไม่ให้เลื่อนไปมา

6. มีดคัตเตอร์ ใช้เหลาดินสอ EE ให้แหลมยาว เพื่อใช้ได้คุ้มค่า

7. ด้ามต่อดินสอ ไว้ใช้เวลาดินสอสั้นๆ จับไม่ถนัดมือ

8. ยางลบธรรมดา เนื้อแข็งปกติ เอาไว้ลบงานให้สะอาด

9. ยางลบนิ่ม สีเข้มๆ ปั้นได้ เอาไว้ซับน้ำหนักให้จางลง

10. มีแปรงปัดขี้ยางลบ กับ

11. เศษกระดาษเอาไว้บังอุ้งมือเพื่อไม่ให้งานเลอะด้วยก็ดี

12. แผ่นอลูมิเนียมบังยางลบของเด็กสถาปัตย์ บางทีก็ได้ใช้ เอาไว้ลบที่ๆลบยากๆ

(เท่าที่นึกออกตอนนี้มีเท่านี้)

เหลาดินสอ

เหลาดินสอ

ก่อนจะเริ่มวาดเส้น โดยปกติเราจะต้องเหลาดินสอให้แหลมก่อนทุกแท่ง คำสั่งง่ายๆ แต่ไม่ค่อยเห็นมีใครที่มาฝึกวาดจะรักษาวินัยทำได้คงเส้นคงวาสักเท่าไร (รวมถึงตัวจ๋าเองด้วยแหะๆ บางทีตอนเรียนพวกเราก็ไปยืนเหลาดินสอกันตรงหน้าห้องเรียนนั่นแหละ)  อันที่จริงยอมรับเลยว่า ตอนที่เคร่งครัดกับการเหลาดินสอดีที่สุดก็คือตอนก่อนสอบนั่นแหละ  วินัยดีที่สุด และแน่นอนวาดภาพสวยที่สุดในชีวิตก็ช่วงนั้น หลังจากนั้นก็ค่อยๆผ่อนลง ^^"   เอาล่ะ เราไม่ควรจะหย่อนยานตั้งแต่ยังไม่เริ่มวาดนะ  ดังนั้นเหลาดินสอมาให้แหลมทุกแท่งก่อนเริ่มวาด  ภาพวาดเราจะสวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดินสอนี่แหละ (เฉพาะวาดเส้นแนวมัณฑนศิลป์นะคะ ส่วนวาดเส้นแนวจิตรกรรมหรือแนวอื่นอาจไม่แน้นดินสอแหลมมาก) สำหรับจ๋า จบมัณฑนศิลป์ เพราะฉะนั้นขอดินสอแหลมไว้ก่อน และยอมปล่อยให้ทู่ได้อย่างน้อย 1 แท่ง ไม่เกิน 3 แท่งใน 2 โหลเท่านั้น. มาเรียนรู้วิธีเหลาดินสอกันเถอะ

บทที่ 2 วาดเส้นภาคปฏิบัติ

บทที่ 2 วาดเส้นภาคปฏิบัติ

ก่อนจะเริ่มวาดจะขอเล่าบรรยากาศการเรียนรู้ในอดีตสักหน่อย (ตามประสาคนเริ่มจะมีอายุละ อะแฮ่มๆ ^^) มาชวนคุยๆ สมัยนี้ตั้งแต่หลังโควิดมาเนี่ย อยากเรียนอะไรก็รู้สึกว่าง่ายขึ้นนะ มีคอร์สออนไลน์  นั่งจิ้มๆ สมัครหน้ามือถือ โอนตังปุ๊บ ได้เรียนปั๊บ  สะดวกดีจริงๆ.  แม้แต่ตัวจ๋าเองก็ลงเรียนโน่นนี่ไว้เยอะแยะไปหมด. ตัดภาพกลับไปสมัยก่อนโน้นนนน.  จะเรียนทีนึงนี่  หลังเลิกเรียน ปั่นจักรยานอ้อมเมืองไป แต่ก่อนโรงเรียนอยู่หลังเขา บ้านครูอยู่หน้าเขา เราก็รีบปั่นไป วันแรกไปหาครู บอกว่าอยากเรียนวาดรูป (คือเห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนฝึกวาดรูป ดูแล้วเราน่าจะพอไหว ช่วงนั้น ม.ปลายแล้ว เริ่มเคว้งคว้างหาที่เรียนต่อละ รู้สึกเรียนวิทย์มันยากไง ก็เลยเริ่มหาทางหนีละ ^^ 55+) ครูก็ไม่ทำอะไร  มองหน้า  แล้วก็ไล่ให้กลับไปนอนคิด  คิดดูให้ดีๆก่อนนะ เรียนวานรูปเนี่ยมันยากนะ  จบมาทำงานก็ยากอีก คิดดีแล้วหรอจะเรียนทางนี้  ให้เวลาคิดสัปดาห์นึง แล้วค่อยมาหาใหม่อีกรอบ...  โอ้โห สมัยนั้น  ต้องตื้อครูนะ.  ยากมากกว่าจะได้เรียน.

พอกลับมาหาครูอีกรอบ ครูก็ให้เตรียมดินสอกับมีดมา (วันแรกเราเอามีดพับพลาสติกเล็กๆไป 55+ ใช้ไม่ได้สิ) วันแรกครูสอนเหลาดินสอ  แบบนี้แหละ  แล้วรู้มั้ยเราเลิกเรียนแล้วก็ไปนั่งฝึกเหลาดินสออยู่เป็นสัปดาห์นะ.  เวลาครูสอน ครูไม่พูดอะไรเยอะเลย ครูทำให้ดูนิดหน่อย แล้วที่เหลือเราก็นั่งฝึกเองจนพระอาทิตย์ตกดิน  ใช้แสงแดดนั่นแหละฝึก ถ้าวันไหนฝนตก ก็อดเรียนไป.

สรุปกว่าจะได้จับดินสอวาดรูปครึ่งค่อนเดือน หลังจากนี้ครูจะให้เราฝึกวาดวงกลมด้วยมือเปล่านะคะ "วงกลม" วาดแต่เส้นรอบนอกด้วยน้ำหนักมือที่เบาที่สุด นิ่งที่สุด ให้ฝึกวาดซ้ำๆแบบนี้นานมาก จ๋าจำไม่ได้ว่าวาดแค่วงกลมอย่างเดียวโดยยังไม่แรกเงาอยู่นานกี่เดือน กว่าครูจะพยักหน้า แล้วให้ทำขั้นถัดไป.

ซึ่งในหัวข้อแรกของโครงการติวฟรีนี้ จ๋าจึงจะขอเพิ่มเนื้อหาส่วนตัวในส่วนที่จ๋าเรียบเรียงเองขึ้นมา นั้นคือ การทำ Gray Scale หรือ ไล่ระดับน้ำหนัก อย่างน้อย 8 ระดับนั่นเอง เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญและมีประโยชน์  ตรงนี้จะไม่เหมือนที่จ๋าฝึกกับครูเป่ามา เพราะสมัยฝึกกับครูของจ๋า เราต้องมีความอดทน และพยายามมากกว่านี้ ซึ่งพอเข้าสมัยนี้แล้วไม่รู้ว่าถ้าให้ฝึกแบบดั้งเดิมแล้วจะเหลือคนฝึกด้วยกันอยู่สักกี่คน ดังนั้น จ๋าขอแทรก Gray Scale ไว้ตรงนี้ ก่อนที่จะข้ามไปวาดเส้นวงกลมแบบครูเป้ากันในหัวข้อถัดไปค่ะ.

ทดสอบแรเงาระดับน้ำหนัก Gray scale

ทดสอบ ระดับน้ำหนัก Gray Scale

ก่อนที่จะเริ่มคอร์ส ติวฟรีวาดเส้น ของจ๋า จำเป็นที่จ๋าจะต้องขอทดสอบทักษะในการควบคุมน้ำหนักมือระดับพื้นฐานก่อนค่ะ เพราะคอร์สนี้เป็นหลักสูตรรวบรัดที่กินเวลาน้อย แต่วัดผลสูงระดับสอบเข้ามหาวิทยาลัย. ดังนั้น มันอาจจะยากเกินไปถ้าเรายังทำระดับน้ำหนัก Gray Scale ได้ไม่ดีพอ (กลัวว่า เดี๋ยวจะท้อนะคะ) ดังนั้นอยากให้ลองฝึกตัวนี้ให้คล่องแคล่วสวยงามจนตัวเราเองรู้สึกพอใจให้ได้ก่อนนะคะ

วงกลม

วาดเส้นวงกลม

1. ให้เราฝึกร่างภาพวงกลมด้วยดินสอ EE ให้ได้น้ำหนักเส้นเบาที่สุด บางที่สุด การฝึกร่างภาพให้เบามีประโยชน์เพราะจะทำให้ภาพวาดของเราดูเรียบร้อยได้อย่างง่ายดายในภายหลัง.

2. แรเงาน้ำหนัก ขาว - ดำ ให้กับวงกลม โดยในขั้นแรกให้เราลอกจากภาพวาดจะง่ายที่สุด,  จากนั้นจึงลอกจากภาพถ่าย, และสุดท้ายให้ตั้งหุ่นทรงกลมจริงๆแล้วลองวาดดู จะยากที่สุด.

reproduct

Reproduct

หรือ reproduction ความจริงคำนี้ จ๋ามารู้จักก็ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว มันก็คือการลอกงานของศิลปิน เพื่อประโยชน์ทางการศึกษานั่นเอง เราก็เรียกให้เท่ห์ๆว่า reproduct ไปนั่นแหละ.  ความจริงมันไม่ใช่ผลงานของเราเอง.  

การฝึกวาดเส้นโดยลอกเลียนแบบจากผลงานภาพวาดของคนอื่นนั้นง่ายกว่าภาพถ่าย และง่ายกว่าการดูแบบจริงเป็นอย่างมาก ฝึกจากรูปแบบนี้จะได้กำลังใจดีมาก ส่วนตัวจ๋าสมัยนั้นพยายามลอกภาพลายเส้นจากหนังสือฝึกวาดเส้นของคุณอนันต์ ประภาโส เป็นหลัก  ซึ่งต่อมาภายหลัง จ๋าก็ได้เข้าเรียนในคณะเดียวกันกับนักเขียนท่านนี้ จึงกลายเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันไป แต่ก็ไม่ได้รู้จักตัวจริงของรุ่นพี่ท่านนี้เลย.  มันก็เป็นความอบอุ่นอีกแบบหนึ่งนะ ^^

หุ่นไม้สี่เหลี่ยม

หุ่นไม้สี่เหลี่ยม

หลังจากที่ฝึกลอกภาพวาดของศิลปินท่านอื่นมาสักระยะแล้ว จำได้ว่าก่อนครูจะให้วาดหุ่นไม้จริง ก็ให้วาดภาพวาดของหุ่นไม้ก่อนนะคะ.  หุ่นไม้จริงนี่รู้สักว่าจะเป็นหุ่นจริงชิ้นแรกที่ได้วาดเลย จะต้องปรับสายตาให้เขากับแบบจริงครั้งแรก รู้สึกสมองทำงานหนักมาก เพราะเดิมลายเส้นคนอื่นเค้าแปรรูปมาให้หมดแล้วว่าเราต้องวางน้ำหนักยังไง ลากเส้นไปทางไหน แต่พอมาเจอแบบจริงเหมือนมันมีรายละเอียดเยอะขึ้น น้ำหนักละเอียดขึ้น เราต้องแบ่งช่องเอง ประมวลผลเองทั้งหมด.  เจอหุ่นจริง ครั้งแรกจะคิดหนักค่ะ ต้องจินตนาการเยอะ. แต่อยากให้ลองดูค่ะ.


กระดาษพับ

กระดาษพับ

หลังจากที่เราวาดเส้นรูปทรงสี่เหลี่ยม สามารถจับระนาบแบนเรียบ ตรงๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนได้แล้ว ต่อมาครูก็จะเอาหุ่นกระดาษพับเป็นรูปทรงที่ดูมีมิติสวยงาม มาตั้งให้เราวาดดู หุ่นอันนี้มีลวดลายอยู่บนกระดาษด้วย ก็จะได้ฝึกเขียนลายละเอียดไปในตัว

ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นผลงานสมัยเข้าค่ายติวเตรียมสอบตอน ม.5 ซึ่งคุณครูแนะนำให้เราไปลองสนามก่อนสอบจริงก่อน 1 ปี จะได้รู้แนวทำข้อสอบอีกวิชาหนึ่ง (องค์ประกอบศิลป์) ซึ่งครูไม่ได้ติวให้ ในปีนั้นรุ่นพี่ที่คณะให้โจทย์ ให้วาดกระดาษกับตัวหนีบ โดยที่เราเป็นคนจัดหุ่นเอง ซึ่งมันก็จะยากตรงนี้แหละ จัดหุ่นเองยังไงให้ดูมีมิติสวยงาม  ผลงานชิ้นนี้ได้รับคอมเม้นท์ว่าจัดหุ่นแบน ดูไม่มีมิติ ซึ่งก็เป็นแนวทางให้เรากลับมาฝึกจัดหุ่นต่อไป.


ผ้ายับ

ผ้ายับ

เนื้อหาในหัวข้อนี้จะเป็นการฝึกระนาบโค้งที่ซับซ้อน.  ความจริงหัวข้อนี้ค่อนข้างยาก เหมือนเส้นผมบังภูเขา สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเรื่องนี้เคยทำอาจารย์มหาวิทยาลัยงงเง็กมาแล้ว กับทักษะของนักเรียน คิดว่าเกินครึ่งห้อง วิชาสีน้ำ อาจารย์ให้วาดผ้า ระบายสีน้ำ แต่เด็กๆไม่สามารถคุมน้ำหนักให้ออกมาเป็นรูปทรงผ้าได้เลย ต้องทำการบ้านซ้ำใหม่กันเกือบทุกคน ยกเว้นเพื่อนที่เรียนมาจากอาชีวะบางคน ที่เคยเรียนเอกศิลปะมา 3 ปีแล้ว เหล่านี้จะทักษะดีกว่าพวกเราสายสามัญที่เพิ่งจะมาปั่นกันทีหลัง.


มือถือสิ่งของ

มือถือสิ่งของ

อันนี้ถือเป็นโจทย์ ข้อสอบวาดเส้นสอบเข้าโจทย์หนึ่ง ซึ่งครูเป้าฝึกให้จ๋าถึงตรงนี้ เพราะจ๋าเริ่มเรียนช้า เราจึงมีเวลาฝึกวาดกันเท่านี้ ซึ่งคุณครูก็เลือกสอนได้ตรงแนวข้อสอบวาดเส้นมันฑนศิลป์ในปีนั้นเป๊ะๆ เพราะตอนสอบนั้น ข้อสอบบอกให้วาดมือถือสิ่งของอะไรสักอย่าง ซึ่งจ๋าจำไม่ได้แล้ว.  แล้วพอเราเคยวาดมาก่อน ตอนสอบมันก็ทำได้ดี.  ในขณะที่ข้อสอบ O-net ปีเดียวกันนั้นเขาให้วาดคนเต็มตัว จ๋าเองก็วาดไม่ค่อยได้ ได้เพียง 30 คะแนนเท่านั้น.  ก็เป็นอันว่าไม่ได้เรียนจิตรกรรม และได้มาเรียนมัณฑนศิลป์แทน ซึ่งก็พอใจแล้ว